สวธ. สืบสานมรดกภูมิปัญญาท้องถิ่นจัดการประกวดรวมศิลป์พื้นบ้านภาคเหนือ ร่วมเทิดพระเกียรติสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี รอบตัดสินชิงเงินรางวัลรวม 250,000 บาท
วันที่ 8 พฤษภาคม 2567 กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม จัดประกวดดนตรีและการแสดงพื้นบ้าน “รวมศิลป์พื้นบ้านภาคเหนือ” เพื่อเทิดพระเกียรติ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้ากรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ
สยามบรมราชกุมารี พุทธศักราช 2567 “รวมศิลป์ แผ่นดินสยาม” รอบชิงชนะเลิศ เพื่อชิงเงินรางวัลรวม 250,000 บาท พร้อมได้รับถ้วยพระราชทานฯ และเกียรติบัตร เพื่อเชิดชูเกียรติการแสดงดนตรีและการแสดงพื้นบ้าน
ของภาคเหนือ ณ เชียงใหม่ฮอลล์ เซ็นทรัลเชียงใหม่ แอร์พอร์ต โดยได้รับเกียรติจาก นายโกวิท ผกามาศ อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม เป็นประธานและมอบรางวัลให้ทีมผู้ชนะในครั้งนี้ทั้งนี้ การประกวดดนตรีและการแสดงพื้นบ้าน “รวมศิลป์พื้นบ้านภาคเหนือ” ที่กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม จัดประกวดขึ้นเพื่อถ่ายทอดศิลปวัฒนธรรมการแสดงและมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมท้องถิ่นที่มีอัตลักษณ์ในแต่ละภูมิภาคไปสู่สายตาประชาชน ในปีนี้มีคณะที่ผ่านเข้าสู่รอบ ชิงชนะเลิศ จำนวน 5 คณะ ประกอบด้วย…
1. คณะกาสะลองเงิน จากจังหวัดเชียงราย
2. คณะร่มบัวสวรรค์ (มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี) จากจังหวัดปทุมธานี
3. คณะลูกน้ำของ (โรงเรียนอนุบาลเชียงของ) จากจังหวัดเชียงราย
4. คณะยุ้งข้าวสตูดิโอ จากจังหวัดเชียงใหม่
5. คณะต้นกล้าดาราภิรมย์ จากจังหวัดเชียงใหม่
สำหรับการประกวดรวมศิลป์พื้นบ้านภาคเหนือ ผู้เข้าประกวดจะต้องสร้างสรรค์ชุดการแสดงและ การบรรเลงโดยนำเอาการแสดงพื้นบ้านภาคเหนือมาเรียงร้อยให้มีความเชื่อมโยงที่บ่งบอกถึงอัตลักษณ์ วิถีชีวิต ความเชื่อ พิธีกรรม วรรณคดีและวรรณกรรม ที่เป็นเอกลักษณ์ของภาคเหนือ โดยด้านดนตรี ให้เลือกเครื่องดนตรีที่เหมาะสมกับการแสดง เช่น วงสะล้อ ซอ ซึง กลองสะบัดชัย หรือเครื่องดนตรีอื่น ๆ ที่เป็นดนตรีพื้นบ้านภาคเหนือ การแสดงพื้นบ้านร้อยเรียงเชื่อมโยงโดยอาศัยนาฏศิลป์พื้นบ้าน เช่น ฟ้อนดาบ ฟ้อนเล็บ ฟ้อนเทียน ฟ้อนสาวไหม หรือฟ้อนพื้นเมืองตามอัตลักษณ์การแสดงท้องถิ่นของวัฒนธรรมในภาคเหนือ เป็นต้น
พร้อมทั้งการนำเสนอกิจกรรมเทิดพระเกียรติสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อบูรณาการให้เห็นถึงอัตลักษณ์ของการแสดงพื้นบ้านภาคเหนือได้อย่างเหมาะสมและลงตัว และการบรรเลงดนตรีประกอบการขับร้องทำนองมีเนื้อหาการแสดงเพื่อเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมต่าง ๆ
ที่มีอยู่ในภาคเหนือ
ทั้งนี้ เกณฑ์การตัดสินจะพิจารณาจากด้าน 1. ดนตรี 2. การแสดง 3. การขับร้อง และ 4. กระบวนการบูรณาการ ซึ่งมีคณะกรรมการตัดสินเป็นผู้เชี่ยวชาญหลากหลายสาขาครอบคลุมทั้งด้านศิลปะการแสดง ด้านการแสดงพื้นบ้านภาคเหนือและด้านดนตรีพื้นบ้านล้านนา ด้านการบรรเลงและการประพันธ์เพลงสร้างสรรค์ดนตรีพื้นบ้านล้านนา
สำหรับรางวัล “การประกวดรวมศิลป์พื้นบ้านภาคเหนือ” ในครั้งนี้ มีดังนี้
1. รางวัลชนะเลิศ ได้รับถ้วยพระราชทานจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ
สยามบรมราชกุมารี และเงินรางวัลจากกรมส่งเสริมวัฒนธรรมจำนวน 100,000 บาท พร้อมเกียรติบัตร ได้แก่ คณะกาสะลองเงิน จ.เชียงราย
2. รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 1 ได้รับถ้วยรางวัลจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมและเงินรางวัลจาก
กรมส่งเสริมวัฒนธรรม จำนวน 80,000 บาท พร้อมเกียรติบัตร ได้แก่ คณะต้นกล้าดาราภิรมย์ จ.เชียงใหม่
3. รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 2 ได้รับถ้วยรางวัลจากปลัดกระทรวงวัฒนธรรม และเงินรางวัลจาก
กรมส่งเสริมวัฒนธรรม จำนวน 50,000 บาท พร้อมเกียรติบัตร ได้แก่ คณะร่มบัวสวรรค์ (มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี) จ.ปทุมธานี
4. รางวัลชมเชย จำนวน 2 รางวัล เงินรางวัลจาก กรมส่งเสริมวัฒนธรรม จำนวน 10,000 บาท พร้อมเกียรติบัตร ได้แก่…
4.1 คณะลูกน้ำของ (โรงเรียนอนุบาลเชียงของ) จ.เชียงราย
4.2 คณะยุ้งข้าวสตูดิโอ จ.เชียงใหม่